CEA | การจ้างงาน
74
post-template-default,single,single-post,postid-74,single-format-standard,qode-social-login-1.0,ajax_fade,page_not_loaded,,select-child-theme-ver-1.0.0,select-theme-ver-4.4.1,menu-animation-underline,side_area_over_content,wpb-js-composer js-comp-ver-5.4.7,vc_responsive

การจ้างงาน

แรงงานสร้างสรรค์ของไทย
ข้อมูลการกระจายตัวของแรงงานสร้างสรรค์ตามภาคและจังหวัด

นับจาก Creative Industries Mapping Document ฉบับแรกของกระทรวงวัฒนธรรม สื่อและการกีฬา สหราชอาณาจักร (Department for Cultural, Media and Sport: DCMS) ในปี ค.ศ.1998 ซึ่งแม้ว่าจะมีการพัฒนากระบวนการจัดเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งในการประมวลมูลค่า ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูลโดยใช้ระบบจำแนกประเภทอุตสาหกรรม (Standard Industrial Classification of Economic Activities: SIC) โดยใช้ตัวเลข 4 ตัวเป็นรหัส (Code) กำหนดประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่องค์กรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ (National Endowment for Science Technology and the Arts: NESTA) หน่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของ รัฐบาลที่ภายหลังปรับมาเป็นองค์กรการกุศล ได้เพิ่มกระบวนการจัดกลุ่มและกำหนดคำนิยามของ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยใช้การคำนวณ ‘ความเข้มข้นของการสร้างสรรค์’ (Creative Intensity) หรือ สัดส่วนของแรงงานสร้างสรรค์ในทุกรายภาคอุตสาหกรรม เพื่อแยกแยะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออกจาก อุตสาหกรรมอื่น โดยพิจารณาจากระดับความเข้มข้นของการสร้างสรรค์ หากภาคอุตสาหกรรมใดมีระดับ ความเข้มข้นของการสร้างสรรค์สูงกว่าค่ามาตรฐานจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งในการคำนวณความเข้มข้นของการสร้างสรรค์ต้องเริ่มจากการกำหนดนิยามของสายอาชีพสร้างสรรค์ (Creative Occupations) หลังจากนั้น จึงสำรวจการจ้างงานสายอาชีพสร้างสรรค์ในแต่ละกลุ่มธุรกิจเพื่อกำหนดว่าเป็นธุรกิจสร้างสรรค์หรือไม่

การสำรวจการจ้างงานสายอาชีพสร้างสรรค์ และการจัดทำฐานข้อมูลสายอาชีพสร้างสรรค์นี้ช่วยให้ภาครัฐทราบถึงจำนวนแรงงานสร้างสรรค์ที่ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และจำนวนแรงงานสร้างสรรค์ที่ประกอบอาชีพนอกภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ นักออกแบบที่ทำงานโรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น ซึ่งฐานข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อจำแนกมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากแรงงานสร้างสรรค์ในและนอกภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจได้ชัดเจน

ในการจัดทำฐานข้อมูลสายอาชีพสร้างสรรค์ DCMS ใช้การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (Standard Classification of Occupation : SOC 2010) ของสหราชอาณาจักร รหัส 4 หลัก เพื่อแจกแจงสายอาชีพที่ควรจะเป็นสายอาชีพสร้างสรรค์

ในกรณีของประเทศไทย การสำรวจแรงงานสร้างสรรค์ในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เช่นเดียวกับแนวคิดของ DCMS นั้น สามารถใช้การจัดกลุ่มสายอาชีพสร้างสรรค์ของประเทศไทยตามโครงสร้างของการจัดประเภทอาชีพตามมาตรฐานสากล (ISCO–08) ฉบับภาษาไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (รายละเอียดในภาคผนวก 2) ที่มีการเทียบเคียงกับระบบ SOC 2010 ของ DCMS ทำให้ทราบถึงจำนวนของแรงงานสายอาชีพสร้างสรรค์ที่ทำงานภายในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 25591 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนแรงงานสายอาชีพสร้างสรรค์ที่แบ่งตาม ISCO-08 ทั้งสิ้น 860,654 คน

จากข้อมูลการกระจายตัวของผู้มีงานทำจำแนกตามอาชีพสร้างสรรค์รวมทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร และภาคกลาง แต่ถ้าหากพิจารณาแยกรายอุตสาหกรรมจะพบว่า มี 3 อุตสาหกรรมที่แรงงานสร้างสรรค์มีการกระจายตัวในภูมิภาคมากกว่าในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ กลุ่มงานฝีมือและหัตถกรรม ที่มีการกระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด จำนวน 90,910 คน ส่วนกลุ่มดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ มีกระจายตัวอยู่ในภาคกลางมากที่สุด จำนวน 22,765 คน และพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ และห้องสมุด มีการกระจายตัวอยู่ในภาคกลางมากที่สุดเช่นเดียวกัน จำนวน 5,097 คน

อ้างอิง:
1. ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบร่วมกับศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำข้อมูลแรงงานสร้างสรรค์ภายใต้ “โครงการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”