ข้อมูลการพัฒนาเศรฐกิจสร้างสรรค์ของโลก
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในฐานะภูมิทัศน์ใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก
สำรวจ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ นโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรฐกิจจาก 8 ประเทศทั่วโลก
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เข้าสู่สังคมหลังอุตสาหกรรม ที่มูลค่าการผลิตกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการ
1 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยกระดับเป็นประเทศอุตสาหกรรมจากการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศในโลกตะวันตกที่แสวงหาต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและโอกาสในการเข้าถึงตลาดแห่งใหม่ แต่ความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้ยั่งยืนเสียทีเดียว เนื่องจากสามารถถูกประเทศหน้าใหม่ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้
2 ความกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)’ เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของหลากหลายประเทศ โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยพื้นฐานของความรู้ นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (Creative product) ที่เป็นได้ทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) และจับต้องได้ (Tangible)
3 เพื่อความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจการสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณจากภาครัฐโดยมีหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับภาคการผลิตจริง (Real Sector) เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลากหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง
สหราชอาณาจักร
Design in Innovation
สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งแต่การใช้นโยบาย Cool Britannia จนถึงกลยุทธ์ Create UK ที่จัดทำขึ้นโดย Creative Industries Council ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รัฐบาลอังกฤษพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ดังนั้น หน่วยงานที่ดูแลด้านเทคโนโลยี หรือ Technology Strategy Board จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า Innovate UK เพื่อสะท้อนภารกิจการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล
Innovate UK เป็นหน่วยงานที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มายกระดับและสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ มีการผสมผสานการส่งเสริมนวัตกรรมและการสร้างทักษะแรงงาน โดยประสานงานและสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนนวัตกรรม โดยรูปแบบการให้ทุนทั้งการประกวดคัดเลือก การให้การสนับสนุนโดยตรง การให้เงินกู้ มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว กว่า 7,000 บริษัท และมีการสร้างงานแล้วกว่า 55,000 ราย
นโยบายสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษใช้ในการพัฒนาประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2562 มุ่งเน้นที่กลยุทธ์เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Strategy) เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างนวัตกรรม และจัดทำกลยุทธ์การออกแบบในนวัตกรรม4 (Design in Innovation Strategy) เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจนำการออกแบบไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรมด้วยการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม การออกแบบ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) การออกแบบบริการ (Service Design) ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สหรัฐอเมริกา
A Nation of Makers
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2557 ประธานาธิปดี บารัค โอบามา เปิดทำเนียบขาวเพื่อจัดงาน White House Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนเมคเกอร์หรือกลุ่มคนที่ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D printer) เครื่องตัดเลเซอร์ (Laser cutter) เครื่องจักรซีเอ็นซี (CNC router) ในการผลิตและประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ ตามนโยบาย Nation of Makers Initiative ที่มีเป้าหมายในการสร้างผู้ผลิตรุ่นใหม่ที่สร้างงานและธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมไปถึงการสร้างความสนใจในหมู่นักศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนเมคเกอร์ในอนาคต และช่วยให้ผู้ผลิตแก้ปัญญาที่พบในอุตสาหกรรมในปัจจุบัน6
ในปี พ.ศ. 2558 นายโอบามา ยังประกาศให้ระหว่างวันที่ 12-18 เดือนมิถุนายน เป็นสัปดาห์แห่งการลงมือทำ (National Week of Making)7 โดยมีการจัดกิจกรรมที่ทำเนียบขาวและสถานที่ต่างๆ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการสร้างเมคเกอร์รุ่นใหม่ๆ จากการพัฒนาระบบการศึกษาและหลักสูตร STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ที่จะนำไปสู่การเกิดไอเดียและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนกระแสความเคลื่อนไหวของเหล่าเมคเกอร์ (Maker Movement) ที่กำลังเกิดในปัจจุบันให้มีน้ำหนักมากขึ้นจนเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาให้เติบโตในที่สุด
จีน
Made in China 2025
เมื่อภาคการผลิตในประเทศจีนประสบกับปัญหาเรื่องค่าแรงที่สูงขึ้น และการส่งออกที่ลดลงจากการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง จึงรับมือกับปัญหาดังกล่าว ด้วยกลยุทธ์ Made in China 20258 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับปรุงการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพของสินค้าจีน โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 10 ประเภท9 เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Energy Saving and New Energy Vehicles) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อากาศยาน (Aerospace Equipment) อุปกรณ์และหุ่นยนต์ควบคุมด้วยตัวเลข (Numerical Control Tools and Robotics) และอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การแพทย์ (Biological Medicine and Medical Devices) เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ก้าวขึ้นมาให้ทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมของโลกภายในปี พ.ศ. 2592
ญี่ปุ่น
Cool Japan
ประเทศญี่ปุ่นมอบหมายให้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economics, Trade and Industry: METI) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้นโยบาย Cool Japan ซึ่งเน้นการส่งออกสินค้าหรือบริการให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วโลกโดยสะท้อนลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่นเอาไว้ ผ่านแนวทางการพัฒนา 4 ขั้นตอน ได้แก่ การพัฒนาสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการส่งออก กระตุ้นให้เกิดกระแสญี่ปุ่นนิยมในต่างประเทศ ทำธุรกิจในประเทศเป้าหมาย และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศญี่ปุ่นผ่านโครงการต่างๆ อาทิ Anime Tourism โดยความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์ Kadokawa และพันธมิตรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในด้านของเงินทุนและการอำนวยความสะดวกในการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยอนิเมะและมังงะ เพื่อให้ผู้คนโดยเฉพาะชาวต่างประเทศได้เข้าไปเยี่ยมชมสถานที่จริงที่ปรากฎในอนิเมะหรือมังงะที่ชื่นชอบ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งในพิธีปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี พ.ศ. 2559 ที่ประเทศบราซิล นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ ได้ปรากฎตัวในชุดของมาริโอ ตัวละครจากวิดีโอเกมพร้อมกับ VTR แนะนำโตเกียวอิมปิก 2563 ที่ได้มีการนำเอาตัวละครชื่อดังไม่ว่าจะเป็น กัปตันซึบาสะ โดราเอม่อน แพคแมน และ ฮัลโหล คิดตี้ มาผสมผสานกับการกีฬา ซึ่งนับว่าเป็นการปูทางสู่การเติบโตตามนโยบาย Cool Japan ในอนาคต
เกาหลีใต้
Creative Korea
ประเทศเกาหลีใต้ส่งเสริมการส่งออกเนื้อหาจาก (Korea Content) และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ผ่านภาพยนตร์ ซีรีย์ K-Pop ตลอดจนเครื่องสำอางค์และธุรกิจความงาม รวมถึงพัฒนาด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และ ICT เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วย Startups และพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ โดยทั้ง รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นของเกาหลีใต้และเอกชนได้ร่วมมือกันจัดตั้ง Center for Creative Economy and Innovation (CCEI) กว่า 18 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่มาจากพื้นฐานทางทรัพยากรที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่และบริการให้คำปรึกษาในการต่อยอดธุรกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
สิงคโปร์
Smart Nation
จากแผนพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ Intelligent Nation 2015 (iN2015) ที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 254910 หน่วยงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมของประเทศสิงคโปร์ หรือ Infocomm Development Authority of Singapore (iDA) ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาประเทศให้กลายเป็น ‘ชาติอัจฉริยะ’ หรือ Smart Nation ประเทศแรกของโลก ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหา ต่างๆ เช่น ความหนาแน่นของประชากรและการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี การเพิ่มโอกาสและสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน11 โดยนโยบาย Smart Nation Initiative จะมุ่งเน้นไปที่ อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่งและสุขภาพเป็นหลัก พร้อมกับมีการจัดตั้งสำนักงานเพื่อขับเคลื่อนโดยเฉพาะ คือ Smart Nation Programme Office นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศใช้แผน Infocomm Media 2025 เพื่อสร้างระบบนิเวศน์การสื่อสาร (Media Ecosystem) เพื่อสนับสนุนประชาชนและธุรกิจให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศมีความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและการพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่ กลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีนวัตกรรม (Tech innovation hub) และมุ่งไปสู่การเป็น Smart Nation ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ไต้หวัน
Adaptive City – Design in Motion
กรุงไทเปได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพเมืองหลวงแห่งการออกแบบโลกในปี พ.ศ. 2559 (World Design Capital 2016) บนแนวคิด Adaptive City – Design in Motion สนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ นำการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนา ทั้งในเรื่องของการออกแบบอาคาร สถาปัตยกรรม ผังเมืองและกระบวนการความคิด มุมมองในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างโมเดลการพัฒนาเมืองใหม่ๆ โดยเริ่มจากกรุงไทเป ที่จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในไต้หวันให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ออสเตรเลีย
Australia Unlimited
รัฐบาลออสเตรเลียประกาศนโยบายส่งเสริมนวัตกรรม หรือ National Innovation & Science Agenda เพื่อให้นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิต และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ของธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยใช้นโยบายภาษีและมาตรการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจคิดค้นและนำไอเดียใหม่ๆ ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดนวัตกรรม ด้านทรัพยากรมนุษย์และทักษะ (Talent and Skills) โดยเฉพาะทักษะทางดิจิทัล เช่น การเขียนโค้ด เป็นต้น และการทำให้รัฐบาลเป็นตัวอย่างที่ดี (Government as an Exemplar) ของการสร้างนวัตกรรม โดยปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการสาธารณะ การเปิดเผยข้อมูล และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ภาคเอกชนพัฒนาขึ้นมาใช้ในภาครัฐ
อ้างอิง:
Soubbotina, T.P. (2004). Beyond Economic Growth: An Introduction to Sustainable Development Second Edition. Washington, D.C.: The World Bank. 2004: 63-64
2 Harvey, D. (1989). The Condition of Postmodernity: An Inquiry into the Origin of Cultural Change. Cambridge, MA : Blackwell.
3Howkins, J. (2001). The Creative Economy: How People Make Money from Ideas. New York, NY : Penguin.
4Technology Strategy Board. (2015) Innovate UK: Digital Economy Strategy 2015-2018. February 16.
5Technology Strategy Board. (2015) Innovate UK: Design in innovation Strategy 2015-2019. November 10.
6Office of the Press Secretary. (2014) FACT SHEET: President Obama to Host First-Ever White House Maker Faire. The White House. June 18.
7Office of the Press Secretary. (2015) FACT SHEET: New Commitments in Support of the President’s Nation of Makers Initiative. The White House. June 12.
8Li Hui. (2015) Made in Chin 2025: How Beijing is revamping its manufacturing sector. South China Morning Post. [Updated 9 June 2015].
9English.gov.cn [homepage on the Internet]. (2015) ‘Made in China 2025’ plan issued. The State Council. The People’s Republic of China. [Updated 19 May 2015].
10Info-communications Development Authority of Singapore. (2010) Realising the iN2015 Vision.
11Info-communications Development Authority of Singapore. [homepage on the Internet]. (2015) Smart Nation. [Updated 8 December 2015]