มูลค่าทางเศรฐกิจ
มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของประเทศ
มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย1 ในปี พ.ศ. 2557 มีมูลค่าสูง ถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)2 ซึ่งมีมูลค่ารวม 12.14 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาที่มีมูลค่าสูงเป็น 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมแฟชั่น คิดเป็นร้อยละ 4.15 ของ GDP อุตสาหกรรมการออกแบบ คิดเป็นร้อยละ 3.03 ของ GDP และ อุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียง คิดเป็นร้อยละ 1.64 ของ GDP ตามลำดับ หากเปรียบเทียบมูลค่าและสัดส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาต่อ GDP ของประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2555-2557) พบว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาส่วนใหญ่ (เกือบทุกรายการยกเว้นการแพร่ภาพกระจายเสียงในปี พ.ศ. 2556) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในขั้นต้นเศรษฐกิจไทยควรคำนึงถึงการก้าวข้ามการสร้างมูลค่าจากการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและการใช้แรงงาน ไปเป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการผลิตและบริการที่อิงกับการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันพร้อมไปกับวางรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคบริการหรือเศรษฐกิจแบบดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมการสร้างมูลค่าในภาคการผลิตจริง (อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม) และเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทด้วย และการคำนวณตัวคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier) แสดงให้เห็นว่า ในสังคมไทยเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความเชื่อมต่อทางการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มกับภาคเศรษฐกิจอื่น
นอกจากนี้หากกล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแง่การเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น สามารถนำกรอบความคิดด้านตัวคูณผลผลิต (Output Multiplier) มาใช้ในหาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ผลผลิต (Output Chain) ในภาคการผลิตและบริการอื่นๆ เปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรมทั่วไป จะเห็นได้ว่า ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมทั่วไปอยู่ที่ 2.584 ขณะที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อยู่ที่ 2.656 นั่นหมายถึงเงิน 1 บาทที่ใช้ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะสร้างผลผลิตได้ 2.656 บาท สูงกว่าอุตสาหกรรมทั่วไปที่จะสร้างผลผลิตได้ 2.584 บาท
อ้างอิง:
1. มูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2557 ที่มา : จากฐานข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ สศช. (สภาพัฒน์ฯ) เรียกดู ณ วันที่ 30 มีนาคม 2558 โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2557 ที่มา : ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 4/2557 Gross Domestic Product : Q4/2014, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 16 กุมภาพันธ์ 2558